โรคและศัตรูที่สำคัญของยางพารา
โรคยางพารา
เกิดจากเชื้อต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ แบ่งตามลักษณะอาการของโรค ซึ่งทำให้ต้นยางมีอาการผิดปกติ ตามที่ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของ ต้นยาง ได้แก่
-
โรคใบ และฝัก เช่น โรคใบร่วง และฝักเน่าจาก เชื้อไฟทอปโทรา โรคราแป้ง โรคใบจุดก้างปลาฯ
-
โรคลำต้น และกิ่งก้าน เช่น โรคเส้นดำ โรคเปลือกเน่า โรคราสีชมพู
-
โรคราก เช่น โรครากขาว โรครากแดง โรครากสีน้ำตาล
แมลงและศัตรูยาง
แมลงและสัตว์ต่างๆ ที่ทำความเสียหายให้แก่ต้นยาง เช่น หนอนทราย ปลวก เพลี้ย และหนู
การป้องกัน และรักษา
-
เตรียมพื้นที่ปลูกยางให้ปลอดโรค โดยขุดทำลายตอยางเก่าออก
-
ไม่ควรปลูกพืชอาศัยเชื้อราเป็นพืชร่วม หรือพืชแซมยาง
-
กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวยยาง เพื่อทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของ ศัตรูยาง และทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เป็นการลดความชื้นในสวนยาง
โรคเปลือกแห้ง
สาเหตุการเกิดโรค
เกิดจากการกรีดเอาน้ำยางมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเปลือก ที่ถูกกรีดมีธาตุอาหารมาหล่อเลี้ยง ไม่เพียงพอ จนทำให้เปลือกยางบริเวณนั้น แห้งตาย
ลักษณะอาการของโรคที่เกิด
อาการระยะแรก สังเกตได ้จากการ ที่ความเข้มข้นของน้ำยางจางลง หลังการกรีดเปลือกยาง จะแห้งเป็นจุด ๆ อยู่ตาม รอยกรีด ระยะต่อมา เปลือกที่ยังไม่ได้กรีดจะแตกแยกเป็นรอย และ ล่อนออก ถ้ากรีดต่อไป เปลือก
ยางจะแห้งสนิท ไม่มีน้ำยางไหล ออกมา
การป้องกันรักษา
1. หยุดกรีดยางนั้นประมาณ 6-12 เดือน จึงทำการเปิดกรีด หน้าใหม่ ทางด้าน ตรงข้าม หรือ เปิดกรีดหน้าสูง
2. อย่ากรีดยางหักโหม ควรกรีดยางตามคำแนะนำ
หนอนทราย (grub of cockchafers)
ลักษณะการทำลาย
หนอนทรายเป็นตัวอ่อนของด้วงชนิดหนึ่ง รูปร่างเหมือนตัวซี (C) ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร
สีขาว หนอนทรายกัดกินรากยาง จนราก ไม่สามารถดูดหาอาหารเลี้ยงลำต้นได้ ทำให้พุ่มใบยาง มีสีเหลืองผิดปกติ ต้นยางตาย เป็นหย่อม ๆ พบมากในแปลงต้นกล้ายาง ที่ปลูกในดินทราย
การป้องกันกำจัด
ใช้วิธีเขตกรรม และวิธีกล โดยปลูกพืชล่อแมลง เช่น ตะไคร้ มันเทศ และข้าวโพด รอบต้นกล้ายางที่ปลูก
ใหม่ แมลงจะออกมาทำลายพืชล่อ หลังจากนั้น ให้ขุดพืชล่อจับแมลงมาทำลาย
ปลวก (termites)
ลักษณะการทำลาย
ปลวกมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่กินเนื้อไม้ที่ตายแล้ว ซึ่ง ไม่เป็นอันตรายต่อต้นยาง และ ชนิดกินเนื้อไม้สด ซึ่งจะ
กัดกินราก และภายในลำต้นจนเป็นโพรง ทำให้พุ่มใบยาง มีสีเหลืองผิดปกติ ต้นยางเสียหาย ถึงตายได้
การป้องกัน
กำจัดอาจใช้สารเคมีราดรอบต้นยาง ที่ถูกปลวกทำลาย และต้นยางข้างๆ
ที่มา : สำนักงาน กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง , การปลูกยางพารา . พิมพ์ครั้งที่ 4 : 2545
ที่มา :สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร,เกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับยางพารา, พิมพ์ครั้งที่ 1: 2544
สำนักงาน กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง , การปลูกยางพารา . พิมพ์ครั้งที่ 4 : 2545
โรคราแป้ง (Powdery mildew) หรือโรคใบร่วงออยเดียม
มักพบและระบาดมากในช่วงที่ต้นยางกำลังผลิใบอ่อนหลังจากที่ต้นยางผลัดใบในหน้าร้อน ประมาณ มีนาคม-เมษายน ผลจากการทำลายของเชื้อ ทำให้เกิดอาการใบยางอ่อนร่วงอีกครั้ง อาจเรียกโรคนี้ว่า ใบร่วงครั้งที่ 2 ทำให้ระยะเวลาที่ต้นยางจะสร้างใบอ่อนให้เป๊นใบที่แก่เพื่อการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างน้ำยางให้พร้อมเปิดกรีดในฤดูกาลใหม่ต้องยืดออกไป อีก ประมาณ 1 เดือน และก็อาจมีบางสวนที่มีอาการใบร่วงจากเชื้อรานี้ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ต้นยางต้องใช้ระยะเวลานานมาก ๆ เพื่อการสร้างใบใหม่ขึ้นมาทดแทนเป็นรอบที่ 3
สาเหตุของโรคราแป้ง
เกิดจากเชื้อรา Oidium heveae Steinm.
อาการของโรคราแป้ง
เชื้อราจะเข้าทำลายใบอ่อนที่เพิ่งแตกยอดออกมา ทำให้ใบอ่อนเน่าดำ มีรูปร่างบิดงอและร่วงหล่น เหลือเฉพาะก้าน(ซึ่งจะเหี่ยวแล้วร่วงหล่นทีหลัง) หากเข้าไปสังเกตุในสวนยางขณะลมกระโชก จะเห็นใบอ่อนร่วงเต็มกระจายทั่วแปลง ทั้งที่ปลิวลอยอยู่ในอากาศ และทุก ๆ ตารางนิ้วของพื้นดินในสวน แต่หากใบอ่อนยังสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ก็จะมีกลุ่มสปอร์และเส้นใยสีขาวเทาของเชื้อราที่สร้างขึ้นบนผิวใบด้านล่างของแผ่นใบมองดูคล้ายแป้ง และจะพบแผลบนใบสีเหลืองในตำแหน่งที่โดนเชื้อราเข้าทำลาย ซึ่งจะกลายเป็นแผลสีน้ำตาลรูปร่างไม่แน่นอนเมื่อใบแก่ นอกจากนี้ หากเชื้อราเข้าทำลายยดอก ก็จะทำให้ดอกค่อย ๆ ร่วงหล่น ด้วยเช่นกัน
การแพร่ระบาดของโรคราแป้ง
เชื้อราชนิดนี้แพร่ระบาดโดยลมและแมลง มักระบาดในฤดูร้อนที่กลางวันร้อนมาก ๆ กลางคืนอากาศเย็น, ตอนเช้าตรู่มีหมอกและมีความชื้นสูง หรือมีฝนตกปรอย ๆ ในบางวัน และระบาดเข้าทำลายเฉพาะใบยางอ่อนที่เริ่มผลิ ทั้งในสวนยางที่ได้ขนาดกรีดแล้ว รวมทั้งสวนยางขนาดอายุ 1-2 ปี ด้วย
พืชอาศัยของเชื้อราโรคราแป้ง
ต้นเงาะ และหญ้ายาง
การป้องกันกำจัดโรคราแป้ง
1.ในช่วงปลายฤดูฝน ให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางที่มีธาตุไนโตรเจนสูงกว่าปกติ เพื่อเร่งให้ใบยางที่ผลิใหม่หลังฤดูผลัดใบเพสลาดหรือแก่เร็วขึ้น
2.สำหรับต้นยางที่มีอายุไม่เกิน 2 ปีและเริ่มพบเชื้อระบาด ควรพ่นสารอินทรีย์หรือสารเคมี บริเวณใบที่กำลังผลิยอดอ่อน
โรคใบร่วงและฝักเน่า(Phytophthora leaf fall)
ทำความเสียหายแก่ต้นยางทั้งยางเล็กและยางใหญ่ โดยเข้าทำลายได้ทั้งฝักยาง ใบและก้านใบ และเป็นแหล่งเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดเข้าทำลายหน้ากรีด เกิดอาการโรคเส้นดำได้
สาเหตุของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryose Chee. P. palmivora (Butl.) Butl. P. nicotianae Van Breda de Haan var. parasttica (Dastur) Waterhouse
ลักษณะอาการของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
สังเกตอาการได้เด่นชัดที่ก้านใบ โดยปรากฏรอยแผลซ้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำตามความยาวของก้านใบ แผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อมีหยดน้ำยางเล็กๆ เกาะติดอยู่ เมื่อนำใบยางเป็นโรคมาสะบัดไปมาเบาๆ ใบย่อยจะหลุดทันที ซึ่งต่างจากใบยางที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ เมื่อนำมาสะบัดไปมาใบย่อยจะไม่ร่วง บางครั้งแผ่นใบอาจเป็นแผลสีน้ำตาลเข้มถึงดำมีลักษณะช้ำน้ำ ขนาดของแผลไม่แน่นอน นอกจากนี้เชื้อสามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะ ทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาว เจริญปกคลุมฝัก ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมา
การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
เชื้อราแพร่ระบาดโดยลมและฝน ความรุนแรงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และจำนวนวันฝนตก เชื้อนี้ต้องการน้ำเพื่อการขยายพันธุ์ จึงระบาดได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน โดยที่มีแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
พืชอาศัยของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคใบร่วงไฟทอปโทร่า
ทุเรียน ส้ม พริกไทย ปาล์ม โกโก้
การป้องกันกำจัดโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปโทร่า
1.ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อราเป็นพืชแซมยาง
2.กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางพาราให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
3.หากระบาดกับต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารอินทรีย์หรือสารเคมี
4.ต้นยางใหญ่ที่เป็นโรคอย่างรุนแรงจนใบร่วงหมดต้น ให้หยุดกรีดยาง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์
โรคตายจากยอด
อาการตายจากยอด (Die back)
โดยทั่วไปสาเหตุของการตายจากยอดของต้นยางพาราอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากอากาศแห้งแล้งจัดเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้ดินบริเวณรอบๆ รากขาดน้ำ หรือในดินทรายจัดซึ่งมีลักษณะไม่อุ้มน้ำ, อาจเกิดจากเชื้อสาเหตุโรคบางชนิดเข้าทำลาย เช่น โรคใบจุดนูน, โรคราแป้ง, โรคใบจุดก้างปลา หรืออาจเกิดจากสารเคมีตกค้างในดิน เช่น สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือการใส่ปุ๋ยมากเกินไป และอาจเกิดจากการมีแผ่นหินดานหรือโครงสร้างคล้ายหินดาน อยู่ใต้พื้นดินระดับสูงกว่า 1 เมตรขึ้นมา เป็นต้น
ลักษณะอาการตายจากยอด
ใบอ่อนเริ่มเหี่ยวและแห้งจากปลายกิ่งหรือปลายยอด ลุกลามเข้ามาหาส่วนโคนทีละน้อย ถ้าอาการเป็นไปอย่างช้าๆ ส่วนของกิ่งหรือลำต้นที่ยังไม่ตายจะแตกแขนงใหม่ เพื่อเจริญเติบโตต่อไป แต่ถ้าอาการแห้งตายเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะแห้งตายตลอดต้นในระยะเวลาอันสั้น เปลือกล่อนออกจากเนื้อไม้ มองเห็นเชื้อราสีดำหรือขาวเกิดขึ้นบริเวณด้านในของเปลือก
การป้องกันรักษาอาการตายจากยอด
1.ตัดกิ่งหรือยอดส่วนที่แห้งออก โดยตัดให้ต่ำลงมา 1-2 นิ้วแล้วใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทาบริเวณรอยแผล
2.บำรุงรักษาต้นยางให้สมบูรณ์อยู่เสมอ
3.พยายามแก้ไขสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความแห้งแล้งให้รดน้ำตามความจำเป็น หรือใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้น
4.ถ้าเกิดจากโรคระบาด ให้ทำการรักษาตามคำแนะนำ
5.การใช้ปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
โรคเปลือกเน่า (Mouldy rot)
เป็นโรคที่ปรากฏบนหน้ากรีดในสวนยางพาราที่มีสภาพอากาศชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา หรือในสวนยางที่มีลักษณะทึบ ปลูกถี่โรคนี้ระบาดรุนแรงในบางพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร
สาเหตุของโรคเปลือกเน่ายางพารา
เกิดจากเชื้อรา Ceratocystis fimbriata Ellis & Halst.
ลักษณะอาการของโรคเปลือกเน่ายางพารา
เปลือกงอกใหม่เหนือรอยกรีดมีลักษณะฉ่ำน้ำเป็นรอยซ้ำสีหม่น ต่อมาเปลือกเน่ายุบและปรากฏเส้นใยของเชื้อราสีขาวเทาเจริญตรงรอยแผล ถ้าอากาศชื้นเชื้อราจะเจริญปกคลุมเป็นแถบขนานกับรอยกรีดยางอย่างรวดเร็ว ทำให้เปลือกที่หน้ากรีดยางเน่า หลุดออก เห็นแต่เนื้อไม้สีดำ เมื่อเฉือนเปลือกบริเวณรอยบุบและบริเวณข้างเคียงรอยแผลออกดูจะไม่พบอาการเน่าลุกลามออกไป และไม่พบรอยสีดำที่เนื้อไม้ได้แผล ซึ่งต่างจากโรคเส้นดำ
การแพร่ระบาดของโรคเปลือกเน่า
สปอร์แพร่ระบาดโดยลม และแมลงเป็นพาหะนำไป นอกจากนี้ยังพบว่ามีการระบาดของโรคผ่านทางมีดกรีดยาง เชื้อราเจริญได้ดีในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง
พืชอาศัยของเชื้้อสาเหตุโรคเปลือกเน่า
กาแฟ โกโก้ มะม่วง พืชตระกูลถั่ว มะพร้าว มันฝรั่ง
การป้องกันกำจัดโรคเปลือกเน่า
1.ไม่ควรปลูกพืชอาศัยเป็นพืชร่วมยางพารา หรือพืชแซมยางพารา
2.ตัดแต่งกิ่งก้าน กำจัดวัชพืชให้โล่งเตียน และไม่ควรปลูกยางพาราให้หนาแน่นจนเกินไป เพื่อลดความชื้นในสวนยางพารา
3.เมื่อต้นยางพาราเป็นโรค ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทาหน้ากรีดยาง โดยขูดเอาส่วนที่เป็นโรคออกแล้วทาสารเคมีจนกว่าหน้ากรีดยางจะแห้งเป็นปกติ
โรคเส้นดำ (Black stripe)
เป็นโรคทางลำต้นของยางพาราที่มีความสำคัญ เนื่องจากทำลายหน้ากรีดซึ่งเป็นบริเวณที่เก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าอาการรุนแรงจะไม่สามารถกรีดยางซ้ำบนหน้ากรีดเดิมได้อีก ทำให้ระยะเวลาการให้ผลผลิตสั้นลง โรคนี้แพร่ระบาดในพื้นที่ที่เกิดโรคใบร่วงและฝักเน่าเป็นประจำ
สาเหตุของโรคเส้นดำ
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryose Chee, P. palmivora (Butl.) Butl.
ลักษณะอาการของโรคเส้นดำ
บริเวณหน้ายางที่ผ่านการกรีดมาแล้ว จะมีลักษณะเป็นรอยช้ำ ต่อมาจะกลายเป็นรอยบุ๋มสีดำหรือสีน้ำตาลดำตามแนวยาวของลำต้น เมื่อเฉือนเปลือกบริเวณรอยบุ๋มสีดำจะเห็นลายเส้นสีดำบนเนื้อไม้ยางพารา และอาจลุกลามลงใต้รอยกรีด ถ้าอาการรุนแรง เปลือกยางพาราบริเวณที่เป็นโรคจะปริเน่า มีน้ำยางไหล เปลือกเน่าหลุดออกมา ถ้าการเข้าทำลายของเชื้อไม่รุนแรง เปลือกยางที่งอกใหม่จะเป็นปุ่มปม
การแพร่ระบาดของโรคเส้นดำ
เชื้อราบนฝักและใบที่เป็นโรคจะถูกชะล้างโดยน้ำฝนลงมาที่หน้ากรีด พบระบาดรุนแรงเมื่อกรีดยางติดต่อกันในฤดูฝนโดยไม่มีการป้องกันรักษาหน้ากรีด โดยเฉพาะเมื่อความชื้นสูงกว่า 90% หน้ากรีดจะเปียกอยู่ตลอดเวลา เหมาะต่อการขยายพันธุ์ของเชื้อ
พืชอาศัยของเชื้อราโรคเส้นดำ
เชื้อรา P. palmivora สามารถเข้าทำลายพืชอื่นได้หลายชนิด เช่น มะละกอ แตงโม ส้ม ทุเรียน พริกไทย โกโก้ มะพร้าว ยาสูบ ส่วนเชื้อรา P. botryose สามารถเข้าทำลายทุเรียน ส้ม และกล้วยไม้ได้
การป้องกันกำจัดโรคเส้นดำ
1.ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อราเป็นพืชร่วมยางพาราหรือพืชแซมยางพารา
2.ควรหลีกเลี่ยงการเปิดกรีดต้นยางพาราในช่วงฤดูฝนชุก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรคระบาดรุนแรง
3.ระยะที่สวนยางพารามีโรคใบร่วงระบาด อาจใช้สารเคมีทาป้องกันโรคที่หน้ากรีด
โรคเปลือกแห้งหรืออาการเปลือกแห้งยางพารา (Tapping panel dryness)
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่มีรายงานว่าเป็นความผิดปกติทางสรีรวิทยาของต้นยางพาราที่ถูกชักนำโดยหลายปัจจัย อาทิ การใช้ระบบกรีดหักโหม การใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ความผิดปกติของพันธุ์ยาง และสภาพแวดล้อม และยังไม่สามารถตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อโรคใด จึงอาจถือว่าไม่ใช่โรคยาง แต่เป็นอาการหนึ่งของต้นยางพาราที่ไม่มีน้ำยางหรือเปลือกแห้ง นั่นเอง
ลักษณะอาการ
น้ำยางจางลง หลังจากกรีดยางแล้วน้ำยางแห้งเป็นจุด ๆ อยู่ตามรอยกรีดยาง เปลือกยางเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน และแยกจากกันเป็นขั้วๆ ถ้ายังกรีดต่อเปลือกยางจะแห้งสนิท เปลือกใต้รอยกรีดแตก ขยายบริเวณจนถึงพื้นดินและหลุดออก
การป้องกันและแก้ไข
1.หากต้นยางพาราเริ่มแสดงอาการเปลือกแห้งให้หยุดกรีด(เฉพาะต้นที่แสดงอาการเปลือกแห้ง)ทันที อย่างน้อย 6-12 เดือนหรือจนกว่าน้ำยางจะไหลเป็นปกติ
2.ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางพาราตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง ปีละ 2 ครั้ง
3.ใช้ระบบกรีดให้เหมาะสมกับพันธุ์ยางและไม่กรีดหักโหมติดต่อกันเป็นเวลานาน
4.ไม่ควรใช้สารเคมีเร่งน้ำยางสำหรับสวนที่พบต้นยางเริ่มแสดงอาการเปลือกแห้ง
โรคลำต้นยางชำถุงเน่า (Twig rot of polybagrubber)
พบระบาดในแปลงเพาะชำยางชำถุง โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุก ทำให้ต้นยางชำถุงตายอย่างรวดเร็ว
สาเหตุของโรคลำต้นยางชำถุงเน่า
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora nicotianoe Van Breda de Haan var. parasitica (Dastur) Waterhouse. P. palmivora (Butl.) Butl.
ลักษณะอาการของโรคลำต้นยางชำถุงเน่า
เชื้อราทำลายกิ่งแขนงที่แตกออกจากตาของยางพันธุ์ดี เกิดรอยแผลสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำช้ำเป็นรูปยาวรีไปตามความยาวของลำต้น และขยายลุกลามไปรอบต้น ทำให้กิ่งแขนงเหี่ยวแห้งตาย
การแพร่ระบาดของโรคลำต้นยางชำถุงเน่า
ระบาดรุนแรงในช่วงที่มีฝนตกชุก และมีความชื้นในอากาศสูง แปลงเพาะชำ ยางชำถุงที่มีการจัดวางถุงซ้อนกันหลายแถว หรือแปลงที่มีการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ จะเกิดการะบาดของโรคได้ง่าย
การป้องกันกำจัดโรคลำต้นยางชำถุงเน่า
1.ไม่ควรนำดินชำถุงหรือดินบริเวณที่เคยมีการระบาดของโรคมาใช้ซ้ำ
2.ปรับสภาพเรือนเพาะชำยางชำถุงไม่ให้แน่นทึบเกินไป อากาศถ่ายเทสะดวก
3.ถ้าพบต้นยางเป็นโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออกหรือแยกออกจากแปลงและทำลาย
4.กรณีพบโรคระบาดใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อควบคุมโรค
โรครากขาวยางพารา (White root disease)
เชื้อราโรครากขาวสามารถเข้าทำลายรากยางพาราได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ในระยะเริ่มแรกจะไม่เห็นลักษณะผิดปกติของต้นยางพาราส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน เมื่อส่วนรากถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้ จึงแสดงอาการใบเหลืองและใบร่วง สำหรับต้นยางเล็กที่เป็นโรค พุ่มใบทั้งหมดจะมีสีเหลืองผิดกติ ถ้าเป็นต้นยางใหญ่ พุ่มใบบางส่วนจะดูเสมือนว่าแก่จัดและเหลือง ซึ่งจะแตกต่างกับสีเขียวเข้มของพุ่มใบต้นยางที่สมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด
สาเหตุของโรครากขาว
เกิดจากเชื้อรา Rigidoporus lignosus (Klotzsch) imazeki
ลักษณะอาการของโรครากขาว
เมื่อระบบรากถูกทำลายมากขึ้น จะแสดงอาการให้เห็นที่ทรงพุ่ม ซึ่งเป็นระยะที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ บริเวณรากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะปรากฏกลุ่มเส้นใยสีขาวเจริญแตกสาขาปกคลุม และเกาะติดแน่นกับผิวราก เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคในระยะแรกจะแข็งกระด้างเป็นสีน้ำตาลซีด ในระยะรุนแรงจะกลายเป็นสีครีม ถ้าอยู่ในที่ชื้นแฉะจะอ่อนนิ่ม ดอกเห็นมีลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวหรือซ้อนกันเป็นชั้นๆ ผิวด้านบนเป็นสีเหลืองส้ม โดยมีสีเข้มอ่อนเรียงสลับกันเป็นวง ผิวด้านล่างเป็นสีส้มแดงหรือสีน้ำตาล ขอบดอกเห็ดเป็นสีขาว
การแพร่ระบาดของโรครากขาว
เชื้อราเจริญเติบโตและระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน อาการศมีความชื้นสูง และสามารถแพร่กระจายได้ 2 ทาง คือ
1.โดยการสัมผัสกันระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากจากต้นปกติ ทำให้เชื้อเจริญลุกลามต่อไป
2.โดยสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลม ติดไปกับขาแมลง หรือลอยไปตามน้ำ แล้วไปตกบนบาดแผลของตอยางใหม่ เมื่อมีความชื้นเพียงพอจะเจริญลุกลามไปยังระบบรากกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคแหล่งใหม่ต่อไป
พืชอาศัยของเชื้อโรครากขาว
ทุเรียน ขนุน จำปาดะ มังคุด มะพร้าว ไผ่ ส้ม โกโก้ ชา กาแฟ เนียงนก พริกไทย พริกขี้หนู น้อยหน่า มันสำปะหลัง สะเดาบ้าน สะเดาเทียม ทัง มะเขือเปราะ กระทกรก มันเทศ น้อยหน่า ลองกอง
การป้องกันกำจัดโรครากขาว
1.เตรียมพื้นที่ปลูกให้ปลอดโรค โดยการขุดทำลายตอยางเก่า ซึ่งเป็นแหล่งสะสมโรคออกให้หมด
2.ในแหล่งที่มีโรคระบาด หลังการเตรียมดินควรปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วเพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชและจุลินทรีย์ในดินบางชนิดที่เป็นพิษต่อเชื้อราสาเหตุโรคราก
3.หลังจากปลูกยางพาราไปแล้ว 1 ปี ควรตรวจค้นหาต้นยางพาราที่เป็นโรครากเป็นประจำ เมื่อพบต้นเป็นโรค ควรขุดทำลายและรักษาต้นข้างเคียงโดยอาจใช้สารเคมี
4.ต้นยางพาราที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ควรขุดคูล้อมบริเวณต้นเป็นโรค (ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม. ) เพื่อกั้นระหว่างต้นที่เป็นโรคและต้นปกติ ไม่ให้รากสัมผัสกัน
5.ไม่ควรปลูกพืชร่วมยาง หรือพืชแซมยางที่เป็นพืชอาศัยในพื้นที่ที่เป็นโรคราก
หนอนทราย (Cockchafers)
เป็นตัวหนอนของด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่งซึ่งเป็นศัตรูกัดกินและทำลายรากต้นยางพารา ทำให้ต้นยางพาราตายเป็นหย่อมๆ จากการระบาดของหนอนด้วงที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี 2541 นักกีฏวิทยาของกรมวิชาการเกษตร ได้ไปสำรวจและพบว่าเป็นตัวหนอนของแมลงนูนหลวง ซึ่งเป็นด้วงปีกแข็ง
ลักษณะและวงจรชีวิตของหนอนทราย
ตัวเมียวางไข่ในสวนยางพารา อาจเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มก้อน และฟักเป็นตัวหนอนในอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา ตัวหนอนมีสีขาว รูปร่างงอเหมือนตัว C ลำตัวยาว 3-5 ซม. อาศัยอยู่ในดิน กินอินทรียวัตถุและรากพืชเป็นอาหาร เมื่อเจริญเต็มที่แล้วจึงขุดดินเป็นโพรงลึกลงไปและสร้างผนังหนาห่อหุ้มตัวเพื่อเข้าดักแด้ ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็งขนาดใหญ่ ตัวอ้วนป้อมและสั้น ลำตัวยาว 3-5 ซม. กลางวันหลบซ่อนในดิน ออกบินหากินช่วงพลบค่ำ
การทำลายของหนอนทราย
กัดกินรากต้นยางพาราในระยะต้นยางเล็กอายุ 6-12 เดือน ทำให้ต้นยางพารามีอาการใบเหลือง และเหี่ยวแห้งตาย มักพบในสวนยางพาราที่ปลูกทดแทน ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ที่รากของตอยางพาราเก่า และออกมากัดกินรากต้นยางอ่อน และพืชร่วม พืชแซมชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในสวนยางพารา เช่น สับปะรด หวาย ลองกอง ทุเรียน มังคุด เนียงนก มะฮอกกานี รวมทั้งหญ้าคา ยังไม่พบความเสียหายในต้นยางพาราที่มีอายุมาก แต่พบว่าตอยางพาราเก่าที่อยู่ในสวนยางพาราจะเป็นแหล่งอาศัยและเป็นแหล่งอาหารของแมลงชนิดนี้เป็นอย่างดี
การระบาดของหนอนทราย
หนอนทรายมักระบาดในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม และจะระบาดมากในพื้นที่ปลูกยางพาราที่เป็นดินร่วนปนทราย ในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา
การป้องกันกำจัดหนอนทราย
1.ทำการดักจับเต็มวัยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ด้วยกับดักแสงไฟหรือตาข่ายในช่วงพลบค่ำ จะช่วยลดปริมาณแมลงได้เป็นอย่างดี
2.ควรปลูกตะไคร้ เพื่อล่อตัวหนอนทรายให้ออกมาแล้วนำไปทำลาย
3.ใช้สารเคมีราดรอบโคนต้นยางพาราและตอยางพาราเก่า แล้วกลบดิน
ปลวก (Termites)
ในสวนยางพารามีปลวกหลายชนิดอาศัยอยู่ ส่วนใหญ่อาศัยกัดกินรากพืชที่ตายแล้วเป็นอาหาร และให้ประโยชน์ในการสร้างอินทรียวัตถุลงในดิน มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ทำลายต้นยางพารา คือ Coptotermes curvignathus
ลักษณะและวงจรชีวิตของปลวก
ปลวกเป็นแมลงขนาดเล็กสร้างรังอยู่ในดิน มีชีวิตรวมกันอยู่แบบสังคม มีรูปร่าง ลักษณะแตกต่างกันไปตามวรรณะ ปลวกที่ทำลายต้นยางพาราเป็นวรรณะนักรบ สังเกตได้จากกรามที่มีขนาดใหญ่ เมื่อใช้กรามงับสิ่งของจะขับของเหลวคล้ายน้ำนมออกมาจากส่วนหัวตอนหน้าทันที ปลวกแต่ละรัง มีจำนวนนับพันนับหมื่นตัว โดยฟักออกจากไข่ และเจริญเป็นตัวเต็มวัยโดยการเปลี่ยนรูปร่างทีละน้อย (ไม่ผ่านระยะดักแด้)
การทำลายของปลวก
ต้นยางพาราที่ปลวกทำลาย ส่วนมากจะมีอาการใบเหลืองเหมือนโรคราก ทำลายต้นยางพาราได้ทุกระยะ โดยการกัดกินรากและโคนต้น ต้นยางพาราที่ปลูกใหม่จะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ต้นยางพาราใหญ่ที่ถูกปลวกทำลายจะไม่สามารถมองเห็นลักษณะการทำลายจากภายนอกต้นยางได้เลย จนกระทั่งต้นยางโค่นล้มเพราะถูกลมพัดแรง หรือต้องขุดรากดูจึงจะเห็นโพรงปลวกที่โคนรากยางพารา
การระบาดของปลวก
พบมากในพื้นที่ปลูกยางพาราที่เป็นดินลูกรัง
การป้องกันกำจัดปลวก
สามารถทำได้แต่การจะให้ได้ผลคงยาก เนื่องจากปลวกมีชีวิตอยู่รวมกันแบบสังคมและสร้างรังอยู่ใต้ดิน วิธีที่จะป้องกันกำจัดได้ก็โดยการใช้สารเคมีที่เป็นของเหลวราดรอบ ๆ โคนต้นยางพารา เพื่อให้ซึมลงไปตามรากโดยการขุดดินเป็นร่องแคบ ๆ ที่โคนต้นยางพารา เพื่อป้องกันมิให้สารเคมีซึมขยายออกด้านข้างมากเกินไป
หมายเหตุ: อ้างอิงจาก โรคและศัตรูยางพาราที่สำคัญในประเทศไทย, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2549
ที่มา : live-rubber.com
" target="_blank">